มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง

เหมืองแม่เมาะ เป็นเหมืองลิกไนต์เปิดที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ มีภารกิจหลักในการจัดหาถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตามความต้องการของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เฉลี่ยวันละ 45,000 ตัน หรือคิดเป็น 16 ล้านตันต่อปี โดยมีปริมาณดินที่ต้องขุดออกทั้งสิ้นปีละประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร

เหมืองแม่เมาะได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายรายงาน EIA ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และยังคงดำเนินการตามระบบมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา พบว่าเหมืองแม่เมาะสามารถควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านที่สำคัญ ได้แก่ ฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน และคุณภาพน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือดีกว่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนด จากการดำเนินงานการทำเหมืองตลอดจนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ทำให้เหมืองแม่เมาะได้รับรางวัล Thailand Coal Awards 2017
รางวัล ASEAN Coal Awards 2017 และ
รางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) ประจำปี 2560
ที่ยืนยันการเป็นสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม

มาตรการด้านฝุ่น

เหมืองแม่เมาะได้กำหนดมาตรการการป้องกันผลกระทบด้านฝุ่น เริ่มจากขั้นตอนวางแผนการจัดเตรียมเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อนเข้าทำเหมือง โดยจัดให้มีรถน้ำราดน้ำถนน และรถสำหรับฉีดพ่นน้ำที่วัสดุก่อนการขุดขน สำหรับขั้นตอนการขุดขน มีมาตรการควบคุมการเกิดฝุ่นอย่างเข้มงวดตั้งแต่แหล่งกำเนิดโดยการเพิ่มความชื้นบริเวณหน้างานก่อนการขุดขน มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำที่เครื่องโม่และระบบสายพานลำเลียงเป็นระยะๆ มีการปิดคลุมบริเวณจุดเปลี่ยนสายพานรวมถึงมีระบบฉีดน้ำก่อนการโปรยกองดินและถ่าน บริเวณลานกองถ่านจะมีระบบฉีดพ่นน้ำคลุมลานกองเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น สำหรับถนนจะทำการฉีดพรมน้ำบนถนนบริเวณบ่อเหมือง และที่ทิ้งดิน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง โดยกำหนดให้มีการราดน้ำถนนในบ่อเหมือง อย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง และราดน้ำถนนบนที่ทิ้งดิน อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ทั้งนี้ให้พิจารณาจากสภาพอากาศและฤดูกาลประกอบรวมถึงมีการดำเนินการฟื้นฟูสภาพเหมือง โดยปลูกต้นไม้เป็นแนวกันฝุ่น (Green Belt) การปลูกพืชคลุมดินและไม้ยืนต้นควบคู่ไปกับการทำเหมือง ซึ่งจะช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากพื้นที่ว่างเปล่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจและสามารถตรวจสอบได้ กฟผ.แม่เมาะ จึงได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนโดยรอบจำนวน 15 สถานี โดยบางสถานีจะมีเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษตรวจวัดควบคู่ด้วยจำนวน 3 สถานี

มาตรการด้านกลิ่น

กลิ่นเกิดจากการลุกไหม้ด้วยตัวเองของถ่านหิน (Spontaneous Combustion) มีมาตรการการควบคุมคือ ควบคุมปริมาณถ่านสำรองไม่ให้มีมากเกินไป โดยกำหนดให้ใช้ถ่านหินที่บดแล้วให้หมดภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อลดการลุกติดไฟด้วยตนเอง โดยถ่านที่มาก่อนจะใช้ก่อน การเปิดหน้าดินบริเวณบ่อเหมืองจะเหลือดินคลุมถ่านไว้ประมาณ 1 เมตรเพื่อไม่ให้ถ่านสัมผัสกับออกซิเจน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ ทำการบดอัดผิวกองถ่านหินชั่วคราวนอกลานกองถ่านให้แน่น รวมถึงมีทีมงานสำรวจคอยเฝ้าระวังและเข้าดับทันทีหากพบการลุกไหม้ของถ่าน ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำอุปกรณ์ Infrared Thermography (IR) มาช่วยตรวจสอบพื้นที่ที่มีแนวโน้มติดไฟ และหากพบจุดที่เสี่ยงติดไฟก็เข้าดำเนินการควบคุม โดยการบดอัดก่อนที่ถ่านจะเกิดการลุกติดไฟ ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันเชิงรุก

มาตรการด้านเสียง

เสียงที่เกิดการจากทำเหมือง กฟผ. แม่เมาะได้มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเสียง โดยกำหนดให้บริษัทผู้รับจ้าง มีการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเครื่องจักรกลระบบสายพานให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ มีการจัดทำกำแพงกั้นเสียง (Sound Barrier) บริเวณปลายสายพาน เพื่อลดเสียงจากปลายมอเตอร์สายพายบนที่ทิ้งดิน ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำการตรวจวัดระดับเสียงจากลูกกลิ้งสายพานที่ทำงานบนที่ทิ้งดินทั้งชุดและทำการเปลี่ยนลูกกลิ้งที่มีเสียงดังเกินเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ได้ทำคันดินและปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวป้องกันเสียงระหว่างบ่อเหมืองกับชุมชน พร้อมทั้งมีการตรวจวัดเสียงรบกวนและระดับเสียงทั่วไปบริเวณชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบเหมือง

มาตรการด้านแรงสั่นสะเทือน

มาตรการด้านแรงสั่นสะเทือน ได้มีการควบคุมน้ำหนักวัตถุระเบิดตามระยะทางและควบคุมการจุดระเบิดโดยการหน่วงเวลาเพื่อไม่ให้ระเบิดพร้อมกัน โดยใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และวิธีการที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบด้านความสั่นสะเทือน ทั้งนี้เหมืองแม่เมาะได้นำมาตรฐานความสั่นสะเทือนสำหรับอนุรักษ์โบราณสถานของประเทศออสเตรเลียที่กำหนดความเร็วอนุภาคต่ำสุดไม่เกิน 2 มิลลิเมตร/วินาที มาใช้เป็นเกณฑ์ควบคุม ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานแรงสั่นสะเทือนเพื่อป้องกันผลกระทบต่ออาคาร ของประเทศไทยที่กำหนดความเร็วอนุภาคต่ำสุดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร/วินาที นอกจากนี้มีการติดตามตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนบริเวณชุมชนใกล้เคียงพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง

มาตรการด้านคุณภาพน้ำ

ด้านคุณภาพน้ำ มีการกำหนดให้แยกจัดการน้ำผิวดินบริเวณที่มีกิจกรรมต่างๆ ออกจากกัน เพื่อลดการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ลดปริมาณน้ำทิ้งที่ต้องระบายออกสู่ธรรมชาติ โดยสูบน้ำจากบ่อตกตะกอน (Settling Pond) มาใช้เป็นน้ำหมุนเวียนในเขตเหมืองให้มากที่สุด โดยนำไปรดน้ำต้นไม้ ฉีดพรมถนนเพื่อลดฝุ่น และใช้ในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว ส่วนน้ำทิ้งจากขุมเหมืองที่ถูกควบคุมให้ไหลลงสู่ Sump ต่างๆ จะต้องผ่านการบำบัดคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนปล่อยให้ไหลลงสู่ลำน้ำสาธารณะต่อไป นอกจากนี้ยังมีการติดตามตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำทุกๆ 3 เดือน โดยเก็บตัวอย่างครอบคลุมทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปี

ฟื้นฟูสภาพเหมือง

การฟื้นฟูสภาพเหมืองจะมีแผนการดำเนินการตั้งแต่ระยะดำเนินการทำเหมืองจะถึงระยะสิ้นสุดการทำเหมือง โดยในพื้นที่บ่อเหมืองจะทำการปลูกต้นไม้และพืชคลุมดินเพื่อช่วยลดการชะล้างของดินบริเวณพื้นที่ลาดชันของขอบบ่อเหมือง ดำเนินการรักษาสภาพป่าไม้ในบริเวณแนวกั้นเขตไม่ทำเหมืองโดยรอบพื้นที่โครงการให้เจริญเติบโตเป็นปกติ และปลูกซ่อมแซมในบริเวณที่เบาบาง เพื่อใช้เป็นแนวเขตตามธรรมชาติ ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละอองไปเป็นบริเวณกว้าง สงวนพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่โครงการให้เป็นแหล่งหากินและอยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในบริเวณที่ดินที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว จะถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามแผนที่มีการกำหนดไว้ ในลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินเดิมไปพร้อมๆ กับการเดินหน้าเหมืองใหม่ เช่น การปลูกพืชคลุมดิน ปรับความลาดชันให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ปลูกป่าทดแทน และการฟื้นฟูสภาพดิน เพื่อรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยาและสภาพแวดล้อม เป็นต้น